อิเนียสตา

อิเนียสตา เปิดเผยว่า เขาเคยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงก่อนถึง ฟุตบอลโลก 2010 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายอย่างมาก ความสุขในชีวิตหายไป ไม่มีความอยากจะไปซ้อม ไม่อยากเจอเพื่อนหรือแม้แต่ครอบครัว ไม่อยากทำอะไรเลย แต่ในวัย 38 ปี อันเดรส อิเนียสตา ยังคงโลดแล่นอยู่กับทีมวิสเซิล โกเบ อย่างมีความสุข จนทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมเขายังไม่เลิกเล่นตามเพื่อนร่วมรุ่นไป เรื่องนี้เจ้าตัวเปิดเผยว่ามาจากเหตุผล 3 อย่าง

เหตุผลที่ทำให้ อันเดรส อิเนียสตา ยังคงเล่นฟุตบอลในวัย 38 ปี

ช่วงนี้ใกล้จะถึงช่วงฟุตบอลโลกแล้ว กระแสข่าวต่างๆ ก็เริ่มที่จะเข้าช่วงจุดไต้ให้ไฟแห่งมหกรรมเกมลูกหนังของมวลมนุษยชาติลุกโชน ที่ THE STANDARD ก็เช่นกัน น่าจะพอเห็นว่ามีข่าวสารเกี่ยวกับ ‘กาตาร์ 2022’ ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ

พูดถึงฟุตบอลโลกแล้ว ตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปีที่เริ่มแข่งขันมาตั้งแต่ครั้งแรก ปี 1930 ที่ประเทศอุรุกวัย (หรือจะเปิด ‘8 บรรทัด ประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก’ เอาไว้เล่าแข่งกับ ‘8 Minute History’ ของเฮียวิทย์ ดีไหมครับ!) แฟนลูกหนังต่างมีฮีโร่มากมายตามแต่ยุคสมัยของตัวเอง จากรุ่นของ การ์รินชา, เปเล, เซอร์ เจฟฟ์ เฮิร์สต์, ฟรานซ์ เบ็คเคนเบาเออร์, เปาโล รอสซี, ดีเอโก มาราโดนา, ซีเนดีน ซีดาน และ โรนัลโด (ออริจินัล) เป็นต้น

ท่ามกลางแชมเปียนเหล่านี้ มีฮีโร่คนหนึ่งที่อยู่ในความเงียบงัน เพราะไม่ได้วางตัวเป็นซูเปอร์สตาร์เหมือนคนอื่น แต่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพาทีมชาติสเปนคว้าโทรฟี่สีทอง FIFA World Cup มาครองได้สำเร็จในฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ฟุตบอลโลกได้ไปร่วมเฉลิมฉลองกับแฟนๆ ในดินแดนแห่งนี้

อันเดรส อิเนียสตา อัจฉริยะลูกหนังคือคนที่อยากเล่าถึง

จริงอยู่ที่ในฟุตบอลโลกปีนั้นสเปนเป็นทีมที่แข็งแกร่งแทบจะไร้เทียมทาน ทีม ‘La Roja’ หรือ ‘กระทิงดุ’ มีองค์ประกอบที่เพียบพร้อมไปทุกตำแหน่ง เป็นทีมที่มีระบบการเล่นดีที่สุดอย่าง ‘Tiki-Taka’ ที่ทุกวันนี้ยังหาใครเทียบทานได้ยาก (และเป็นที่ถกเถียงว่าระหว่างสเปน 2010 กับบราซิล 1970 ทีมใดยอดเยี่ยมกว่ากัน!)

แต่คนที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับผลการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคนทำประตูตัดสินเกมให้สเปนเอาชนะเนเธอร์แลนด์ได้ในช่วงของการต่อเวลาพิเศษนาทีที่ 116 หรืออีกแค่ 4 นาทีก่อนที่เกมจะถึงฎีกาก็คืออิเนียสตา

แชมป์ฟุตบอลโลกในวันนั้นคือจุดสูงสุดของกองกลางผู้มีสเตปการเล่นที่ไม่มีใครจับทางได้คนนี้ ซึ่งวันเวลาผ่านมา แม้แต่อิเนียสตาเองก็หนีไม่พ้นสัจธรรมของชีวิตคือเรื่องของสังขารที่ร่วงโรย และนั่นทำให้เขาตัดสินใจที่จะอำลาบาร์เซโลนาเพื่อมาเล่นฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่น ปิดฉากชีวิตการเล่นกับสโมสรรักแรกและรักเดียวในดวงใจเมื่อจบฤดูกาล 2017/18 และภาพของอิเนียสตาในชุดบาร์ซาที่ถอดรองเท้านั่งทอดอาลัยอยู่กลางสนามคัมป์นูในช่วงค่ำคืนหลังเกมนัดสุดท้ายของเขายังชัดเจนในความทรงจำ 

กลับไปหาสโมสรแรกที่เป็นจุดเริ่มต้น

การมาเล่นในเจลีกของ อิเนียสตา นั้นเชื่อว่าเป็นโค้งสุดท้ายของชีวิตการเล่น เพราะส่วนใหญ่นักฟุตบอลระดับโลกที่ไม่สามารถอยู่กับสโมสรที่รักได้จะมีทางออกไม่กี่ทาง และไปหาสโมสรในลีกที่เล่นได้สบายตัวและสบายใจ

ผมเองก็มีโอกาสไปชมลีลาการเล่นของ ดอน อันเดรส ถึงโกเบเมื่อ 4 ปีก่อน (วันนี้พอดี!) โดยวันนั้นวิสเซิล โกเบ ต้นสังกัดของเขา ลงสนามปะทะซากัน โทสุ ที่มี ‘เอลนินโญ’ เฟอร์นานโด ตอร์เรส สตาร์ร่วมรุ่น เป็นพระเอก

ยังจำได้ว่ามีการจุดกระแสให้เป็นการดวลกันของสองคนนี้ มีการทำของที่ระลึกออกมามากมายที่แฟนบอลชาวญี่ปุ่นไล่เก็บหมด จนแฟนบอลชาวไทยอย่างผมได้แต่มองตาปริบๆ (เพราะราคาหลายชิ้นสูงและสำคัญกว่าราคาสูงคือมันขายหมดแล้ว!)

ตอนนั้นก็คิดว่าคงเหลือเวลาไม่นานที่อิเนียสตาจะอยู่ในสนาม ไม่น่าเกิน 1-2 ปีคงจะปิดฉากตำนานของตัวเอง และปรากฏว่าเวลาผ่านมา 4 ปี ในขณะที่ตอร์เรสเลิกเล่นไปตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว อิเนียสตาก็ยังคงเล่นฟุตบอลอาชีพอยู่กับโกเบอย่างมีความสุขเหมือนเดิม

มันเป็นคำถามอยู่นะครับว่าทำไมเขายังคงโลดแล่นอยู่แบบนี้ ไม่เบื่อเหรอ ไม่เจ็บเหรอ? และเรื่องนี้เพิ่งจะมีคำตอบจากสารคดี My Decision ของเจ้าตัว ทาง Rakuten TV ที่เปิดเผยเรื่องราวทุกอย่างโดยเฉพาะการกลับมาจากช่วงเวลาอันมืดมนอนธการ และอิเนียสตาเล่าไว้แบบนี้

มันมีเหตุผล 3 อย่างด้วยกันที่ทำให้นักฟุตบอลแบบเขา รวมถึงนักเตะอย่าง ลิโอเนล เมสซี, คริสเตียโน โรนัลโด หรือ ลูกา โมดริช ซึ่ง 3 คนหลังนั้นยังขอไปต่อในระดับสูงสุดกับฟุตบอลโลก 2022 ที่กำลังจะเริ่มในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

3 สิ่งที่เป็นเหตุผลนั้นคือ

  • ความรัก
  • แรงปรารถนา
  • และความตื่นเต้น

สำหรับอิเนียสตา เขาเคยได้รับบาดเจ็บรุนแรงในปี 2020 ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นน่าจะทำให้เขาลืมเรื่องของการทำร่างกายเพื่อกลับมาลงสนามอีกครั้งได้เลย ซึ่งถ้ามองจากบุคลิกความเป็นคนเงียบๆ ดูใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์อย่างเขา ก็น่าจะออกมาในรูปนั้น แต่การจะอำลาสนามไปทั้งแบบนี้นั่นหมายถึงการที่ ‘ส่วนหนึ่งของชีวิต’ มันจะขาดหายไปทันที

อิเนียสตาพยายามชี้ให้เห็นว่า สำหรับนักกีฬาที่อายุมากขึ้น จริงอยู่ที่แต่ละคนก็มีฉากชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แต่ลึกๆ ในใจแล้วทุกคนล้วนมีแรงปรารถนา มีความฝันที่เป็นพลังผลักดันในการทำสิ่งที่รัก ความรู้สึกเหล่านี้คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตและหัวใจ

อีกทั้งไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่รักเพื่อหาเลี้ยงชีพได้แบบนี้ อิเนียสตาบอกว่า เขายังไม่พร้อมสำหรับการตัดใจจากสิ่งเหล่านี้ (และเป็นเหตุผลเดียวกับที่เมสซี โรนัลโด และโมดริช ยังอยากได้แชมป์ฟุตบอลโลกอยู่)

เอาไว้ในวันที่เขา ‘ไร้ความรู้สึก’ กับบรรยากาศของแฟนบอลที่เข้ามาเชียร์ในสนาม เฉยๆ กับการได้พบปะแฟนๆ หรือไม่สนุกกับการเตะฟุตบอลเล่นกับเพื่อนร่วมทีมแล้ว วันนั้นอาจจะเป็นวันที่เขายอมปล่อยมือจากเกมฟุตบอลที่เขารัก

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าอิเนียสตาไม่เคยรู้สึกแบบนั้นนะครับ ในทางตรงกันข้ามเขาเคยรู้สึกแบบนี้มาก่อนและเป็นเรื่องที่เก็บงำมานาน ไม่ค่อยได้บอกให้ใครรู้ ซึ่งเรื่องนี้แหละคือเหตุผลจริงๆ ที่ผมอยากเอามาเล่าต่อว่า ขนาดนักฟุตบอลโคตรเทพที่ดูเป็นคนไม่น่ามีปัญหาอะไรในชีวิตอย่างอิเนียสตาก็เคยอยู่ตกเหวของหัวใจมาแล้ว

อันเดรส อิเนียสตา ได้เปิดเผยว่าเขาเคยเป็นโรคซึมเศร้า

เขาเคยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงก่อนถึงฟุตบอลโลก 2010 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายอย่างมาก ความสุขในชีวิตหายไป ไม่มีความอยากจะไปซ้อม ไม่อยากเจอเพื่อนหรือแม้แต่ครอบครัว ไม่อยากทำอะไรเลย

เหตุผล? ความตายของ ดานี ฆาร์เก เพื่อนรักที่เสียชีวิตกะทันหันในแคมป์เก็บตัวของทีมเอสปันญอลช่วงพรีซีซันฤดูกาล 2009/10 ซึ่งมันทำให้อิเนียสตาติดอยู่ในห้องของความเศร้าที่ไม่มีประตูทางออก

การจะกลับมาจากช่วงเวลาแบบนั้นไม่ง่าย ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่สุดท้ายเขาก็กลับมาได้ และค้นพบเคล็ดวิชาบางอย่างจากเรื่องนี้ว่า นอกจากการฝึกฝนในเรื่องของร่างกายแล้ว ทุกคนสามารถฝึกฝนเรื่องของจิตใจด้วยเช่นกัน “ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน” อย่าได้กลัวช่วงเวลายากลำบากที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวันของชีวิต

วันนี้เราอาจจะจมอยู่กับความเศร้า ความผิดปกติของร่างกาย ทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าเรายังไม่ตัดใจ กล้าที่จะเปิดใจเพื่อระบายมวลความมืดในจิตใจให้คนรอบข้างได้รับรู้ เพราะความเข้มแข็งจะเกิดขึ้นหากเราช่วยกันเป็นทีม เพื่อจะเข้ารับการดูแลอย่างถูกต้อง รวมถึงการค่อยๆ ฝึกจิตของตัวเองไปเรื่อยๆ

 สักวันเราจะกลับมาได้ เหมือนที่ อิเนียสตา กลับมาได้ด้วยประตูชัยในนัดชิงฟุตบอลโลก ซึ่งหลังยิงประตูได้เขาถอดเสื้อที่แสดงให้เห็นถึงข้อความที่อุทิศให้แก่เพื่อนรักผู้จากไป อิเนียสตามองเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาค้นพบความสุขในการเล่นฟุตบอลรวมถึงการดำเนินชีวิต และพร้อมมอบบทเรียนให้ทุกคนลองไปถอดใช้ดู ด้วยหวังว่ามันอาจจะช่วยชีวิตของใครได้สักคน

อาร์เตต้า กาซอร์ล่า นักฟุตบอลสองตำนาน อาร์เซนอลแด่มิตรภาพที่ยาวนาน


ข้อมูลอ้างอิงจาก : wikipedia.org