คนเราเท่ากัน

คนเราเท่ากัน คำกล่าวของ นาย คมสิทธิ์ แฟน ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ตำรวจหญิงสายโหด ที่เคยสอนทหารสาวผู้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งทีมงาน โหนกระแส เผยแพร่ต่อแฟนรายการ  ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่ค้านความเชื่อของมนุษย์(ปกติ)อย่างสิ้นเชิง หลังจากฟังจบเชื่อว่าทุกคนต้องตั้งคำถามในใจว่า ความเท่าเทียมของมนุษย์อยู่ที่ไหน? ”  ทำไมคนๆนึงกล้าทำร้ายคนอื่นเหมือนว่าเขาไม่ใช่คน? หรือ หนักสุด อาจถึงขั้นรำพึงเบาๆกับตัวเองว่า โลกนี้ช่างไม่ยุติธรรมเอาซะเลย !! 

ในทางทฤษฎี คนเราเท่ากัน ยังคงเด่นชัดและสวยงาม

ในวัยละอ่อน ผู้เขียนทึกทักเอาเองว่า สิทธิมนุษยชนเป็นความเชื่อที่ว่า มนุษย์ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด  ” ไม่มีใครควรถูกทรมาน หรือ ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ” ช่างเป็นมโนที่ ชัดเจน และ สวยงาม เหมาะที่จะสลักข้อความบนแผ่นหินอ่อนแผ่นโตๆหน้าหน่วยงานราชการทั่วประเทศ 

สิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์  คือ  มนุษย์สามารถคิดและถ่ายทอดความคิดของตัวเองให้ผู้อื่นรับรู้ได้  เรามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (มโนธรรม ) ไม่มีใครมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของบุคคลอื่น หรือ บังคับให้คนอื่นทำงานภายใต้การคุกคามหรือการลงโทษ นั่นคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีคุณสมบัติที่เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์เดรัจฉาน เลยไปถึงสัตว์เซลล์เดียว

ความเท่าเทียมกัน ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์ทุกคนเหมือนกัน แต่ละคนมีความแตกต่างกันในแบบของตัวเอง  แต่ทุกคนควรมีคุณสมบัติพื้นฐานข้างต้นที่ทำให้เราเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์  ดังนั้น  ทุกคนจึงต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและให้เกียรติ ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นในลักษณะเดียวกัน  ไม่ควรมีใครถูกเลือกปฏิบัติในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ทางเชื้อชาติ , สัญชาติ ,  ศาสนา , การเมือง , เพศ , อายุ หรือ แม้กระทั่งอาชีพ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ 

ความไม่เท่าเทียม ถูกฝังรากลึกในมนุษย์ตั้งแต่ เจน A ยัน Z 

ความเข้าใจใหม่อันเกิดจากประสบการณ์และการใช้ชีวิตมากว่า 40 ปี พบว่า มนุษย์เกิดมาอย่างอิสระ ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพของตัวเอง  แต่เสรีภาพไม่ได้หมายความว่าเราจะทำ หรือ ไม่ทำ อะไรก็ได้ แม้ว่าเราจะเกิดมาอย่างอิสระ แต่เราอาศัยอยู่ในชุมชน เราจึงมีหน้าที่ และ เข้าใจการใช้ชีวิตร่วมกับสังคมอย่างถูกต้อง 

เมื่อมีการแบ่งหน้าที่สร้างบทบาทของมนุษย์ในสังคมให้แตกต่างกัน  การสร้างสถานะให้ตัวบุคคล ส่งผลต่อ ความเลื่อมล้ำสิทธิมนุษยชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  คนที่เป็นหัวหน้า ย่อม มีสถานะที่เหนือกว่า คนที่อยู่ในปกครอง โดยไม่ต้องมีคำอธิบาย มนุษย์ทุกคนเข้าใจและยอมรับกฎแห่งความเลื่อมล้ำนี้อย่างไม่มีข้อกังขา ยิ่งบุคคลมีอำนาจมากเท่าใด เขาหรือเธอก็จะยิ่งสนใจในสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้อื่นน้อยลงเท่านั้น  และมักคิดเอาเองว่า พวกเขาสามารถทำทุกอย่างที่ต้องการกับผู้ที่อ่อนแอกว่าได้ โดยสิ่งเหล่านั้นจะไม่มีผลใดๆกับการดำรงชีวิต สถานะของพวกเขา ในชาตินี้ (แต่ไม่การันตีในชาติหน้า)  

ความไม่เท่าเทียมกันนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความเลื่อมล้ำในแง่ของอำนาจทางสังคมเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ชาติสกุล , วรรณะ , ความมั่งคั่ง , สีผิว , เพศ และอื่นๆ อีกด้วย 

บ่นมาถึงตรงนี้ ขอสรุปแบบไม่อายเลยว่า “คนเราเท่ากัน” ไม่เคยมีจริง ไม่ว่าจะมุมมองของแฟนๆ โหนกระแส หรือ มุมมองของผู้เขียน แม้กระทั่งตัวผู้อ่านเอง ยอมรับเถอะว่า หลักการนี้ อาจเกิดขึ้นจริงบนโลกในยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 15 วินาที หลังจากนั้น ความเท่าเทียมของมนุษย์ก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย